ONLINE MAGAZINE

300 บริษัทยอดเยี่ยมแห่งปี 2021 (ตอนที่ 2)

บทความโดย: Admin

บมจ.ราช กรุ๊ป : RATCH

บริษัทยอดเยี่ยมแห่งปี 2021 กลุ่มทรัพยากร

บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ครองตำแหน่งบริษัทยอดเยี่ยมแห่งปี 2021 กลุ่มทรัพยากร บริษัทมีกำไรสุทธิ 6,2867 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% จากปี 2562 คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 4.34 บาท ให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล 4.53%

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลประกอบการปี 2563 ได้รับแรงหนุนจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าหงสาและกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่ดีขึ้นจากปีที่แล้ว รวมทั้งมีการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังความร้อน Thang Long เวียดนาม ซึ่งบริษัทลงทุนผ่านกองทุน ABIEF เมื่อปีที่ผ่านมาด้วย ขณะที่ภาพรวมรายได้ส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุนในปี 2563 เพิ่มขึ้น 15.9 % เป็นเงินจำนวน 4,600 ล้านบาท

ในปี 2564 บริษัทได้จัดสรรงบประมาณ 15,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการเดิมและโครงการใหม่ ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 700 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ลงทุนแล้ว 8,174 เมกะวัตต์

ส่วนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจเกี่ยวเนื่องพลังงานจะสานต่อโครงการที่ได้เริ่มศึกษาและเจรจาร่วมทุนในปีที่ผ่านมาต่อเนื่อง ได้แก่ การร่วมทุนในบริษัทนวัตกรรมกับกลุ่มกฟผ. โครงการ District 9 : เขตอุตสาหกรรมดิจิทัลและชุมชนอัจฉริยะ โครงการจัดหาเชื้อเพลิงแอลเอ็นจี โครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง เป็นต้น

RATCH มีแผนขยายโอกาสการลงทุนในตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่ธุรกิจพลังงานทดแทนเติบโต ที่บริษัทสามารถแสวงหาการลงทุนเพื่อสนับสนุนเป้าหมายกำลังผลิตพลังงานทดแทน 2,500 เมกะวัตต์ในปี 2568 รวมทั้งธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลได้

นอกจากนี้ก็จะจับมือกับพันธมิตรรายเดิมขยายการลงทุนโครงการใหม่ๆ ร่วมกันด้วย สำหรับธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านพลังงานก็จะขับเคลื่อนโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาให้ไปสู่การร่วมทุนและดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การร่วมทุนนวัตกรรมด้านไฟฟ้ากับกลุ่มการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามจัดตั้งบริษัทร่วมทุนได้ในปีนี้ โครงการจัดตั้งโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่งในประเทศและสปป. ลาว และโครงการจัดหาเชื้อเพลิงแอลเอ็นจี โครงการดังกล่าวนี้ บริษัทได้จัดเตรียมวางแผนการจัดหาเงินไว้พร้อมแล้ว และมั่นใจว่าเป้าหมายที่วางไว้จะสามารถดำเนินการได้สำเร็จ

ปี 2564 บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปีนี้อีก 4 โครงการ รวมกำลังผลิตตามการถือหุ้น 537.04 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น 149.94 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 70%) โรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเล็กเตอร์ 226.8 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 100%) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว อินโดนีเซีย 145.15 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 49%) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม Thanh Phongเวียดนาม 15.15 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 51%)

ส่วนโรงไฟฟ้าที่เดินเชิงพาณิชย์แล้ว กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 6,700 เมกะวัตต์ จะมุ่งเน้นบริหารประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิง ต้นทุนการผลิต และควบคุมการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุด

มุมมองนักวิเคราะห์

บล.โนมูระ พัฒนสิน แนะนำ ซื้อ"ให้ราคาเป้าหมาย 67.00 บาท/หุ้น

มองเป็นโอกาสสะสม RATCH รับการฟื้นตัวของกำไรปกติมีต่อเนื่องใน 2021-2022 รวมถึงมีโรงไฟฟ้าใหม่ที่ที่จะขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) หนุนกำไรต่อเนื่องในระยะยาว (ปี 2023-2025) และเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงราว 5% เด่นสุดในกลุ่มโรงไฟฟ้า ยังคงแนะนำเป็น top pick ของกลุ่ม

บล.คันทรี่ กรุ๊ป แนะนำ "ซื้อ" ให้ราคาเป้าหมาย 70.50 บาท/หุ้น

ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อผลประกอบการของบริษัทในปี 2021-2025 ด้วยแรงหนุนจากการทยอย COD ของโครงการต่างๆที่อยู่ในแผนงานขนาดรวม 1.6 GWeซึ่งคิดเป็นการเติบโตที่ 24% ในปี 2025นอกจากนี้หุ้น RATCH มีความน่าสนใจมากด้วยมูลค่าพื้นฐานที่ไม่แพงและราคาหุ้นปัจจุบันมีอัตราเงินปันผลที่น่าสนใจที่ 4.8-5.1% ในปี 2021-2023

 

บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี : STA

บริษัทยอดเยี่ยมแห่งปี 2021 กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรม

บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ครองตำแหน่งบริษัทยอดเยี่ยมแห่งปี 2021 กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรม โดยในปี 2563 สามารถสร้างผลการดำเนินงานได้โดดเด่น ด้วยกำไรสุทธิ 9,531 ล้านบาท เติบโต 6,418% และมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 75,479 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากความต้องการใช้ถุงมือยางในตลาดโลก ตลอดจนการฟื้นตัวของราคาและความต้องการของยางธรรมชาติในช่วงปลายปี

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติครบวงจรอันดับ 1 ของโลก เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2563 สามารถสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แม้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงชะลอตัวจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

ขณะที่ ผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2563 นับว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าและอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยบริษัทสามารถทำกำไรสุทธิ 5,499 ล้านบาท เติบโต 7,331% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้จากการขายและการให้บริการอยู่ที่ 26,246 ล้านบาท เติบโต 76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 14,881 ล้านบาท

การเติบโตของผลการดำเนินงานดังกล่าวมาจากความต้องการใช้ยางในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศจีนหลังจากควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ได้ดี ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้มีความต้องการใช้ยางเพื่อการผลิตยางล้อ (รถ) เพิ่มขึ้น

รวมถึงผลการดำเนินงานปี 2563 ของบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGTผู้ผลิตและจำหน่ายถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ STA สามารถทำสถิติสูงสุดใหม่

สำหรับปี 2564 บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถสร้างผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าภาพรวมอุตสาหกรรมยางน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นไป จะส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีความต้องการใช้เพื่อการผลิตยางล้อ และอุตสาหกรรมถุงมือยางที่มั่นใจว่าจะยังมีความต้องการที่แข็งแกร่ง จะเป็นปัจจัยสำคัญให้บริษัทบรรลุเป้าหมายการเติบโต

ทั้งนี้ STA จ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2563 ให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 2.25 บาท รวมเป็นเงิน 3,456 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิที่ 36%

มุมมองนักวิเคราะห์

บล.เอเซีย พลัส แนะนำ ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมาย 60 บาท

ประเมินไตรมาสแรกปี 2564กำไรสุทธิของ STA ทำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) ที่ 6,046 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 607.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากแนวโน้มธุรกิจถุงมือยางพาราจะอ่อนตัวลงไปได้ แม้คาดว่าปริมาณขายยางเพิ่มขึ้น 13.4% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ ราคายางแท่งเฉลี่ยงวดไตรมาส 1/2564 ปรับเพิ่มขึ้น 8.2% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 25.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 1,670 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน แต่ประสิทธิภาพการทำกำไรสุทธิธุรกิจยางพาราจะลดลง เพราะต้นทุนวัตถุดิบยางพาราสูงขึ้น แต่ราคาขายที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลบวกในไตรมาส 2/2564 เพราะตกลงราคาขายล่วงหน้ากับลูกค้าราว 2 เดือน

ขณะเดียวกันบล.เอเซีย พลัส ได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2564-2565 ของ STA เติบโต 22.1% และ 23.7% สะท้อนธุรกิจถุงมือยางที่ดีกว่าคาด ทั้งนี้ ภายหลังปรับเพิ่มประมาณการคาดกำไรสุทธิปี 2564 จะเพิ่มขึ้น 93.2% จากปีก่อน และคาดว่ากำไรสุทธิไตรมาส 2/2564 จะเติบโตต่อเนื่องทั้งจากไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน จากแนวโน้มธุรกิจถุงมือยางและธุรกิจยางพาราเติบโตต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ได้กำหนดราคาเป้าหมายปี 2564 เท่ากับ 60 บาท (เดิม 50 บาท) โดยปรับส่วนลดมูลค่าหุ้น (Discount) บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ลงเหลือ 20% (เดิม 35%) เพื่อให้สะท้อนมูลค่าธุรกิจถุงมือยางมากขึ้น ราคาหุ้นปัจจุบันมี ค่า PER เพียง 4 เท่า และสามารถคาดหวังปันผลได้กว่า 8%

 

 

บมจ.โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) : PTL

บริษัทยอดเยี่ยมแห่งปี 2021 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม

บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PTL ครองตำแหน่งบริษัทยอดเยี่ยมแห่งปี 2021 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างผลการดำเนินงานได้โดดเด่น โดยมีรายได้รวม 15,179 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,250 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) 16.90%

PTL ประกอบธุรกิจผลิตและส่งออกพลาสติกฟิล์มใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์(Packaging) อุตสาหกรรม(Industrial) และอุปกรณ์ไฟฟ้า (Electrical)

นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานกรรมการ บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในรายงานประจำปีของบริษัทว่า การที่บริษัทสามารถทำกำไรได้อย่างมั่นคงในปีที่ผ่านมา เป็นการสะท้อนผลของการดำเนินกลยุทธ์ที่ต่อเนื่องในการกระจายตลาดและสร้างความหลากหลายด้านผลิตภัณฑ์ การขยายประเภทผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์คุณสมบัติพิเศษเฉพาะ ตลอดจนโครงการริเริ่มต่างๆที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน

ความสำเร็จในการเดินเครื่องจักรและการที่สามารถเร่งเพิ่มกำลังการผลิตได้ในเวลาเพียงไม่นานของโครงการแผ่นฟิล์ม PET ใหม่ในประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะส่งผลบวกต่อการทำกำไรในอนาคต

ส่วนโครงการลงทุนอื่นๆของบริษัทที่มีขนาดเล็กลงซึ่งกำลังดำเนินการอยู่มุ่งยกระดับความสามารถในการแข่งขันของบริษัทด้วยสัดส่วนของผลิตภัณฑ์คุณสมบัติพิเศษเฉพาะที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วยการมีสายการผลิต BOPP ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และอยู่ติดกับสายการผลิตแผ่นฟิล์ม PET ในอินโดนีเซีย จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ผลประกอบการดีขึ้นในอีก 1-3 ปีข้างหน้า โดยช่วยให้บริษัทสามารถสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดปัญหาความกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์หลัก คือ แผ่นฟิล์ม PET ด้วย

ความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมนี้และสถานะของบริษัทซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างสูงในอุตสาหกรรมนี้ เห็นได้จากการที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อบริษัทแต่อย่างใด ธุรกิจของบริษัททุกประเทศไม่ได้รับผลกระทบและยังคงดำเนินงานไปได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ในด้านอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ ความต้องการจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท ยังคงขยายตัวได้ดี ในขณะที่อุตสาหกรรมที่ใช้แผ่นฟิล์มมีความต้องการลดลงถึงระดับที่ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการใช้เป็นหลัก ซึ่งคาดว่าทั้งสองภาคธุรกิจจะกลับสู่สภาวะปกติในระยะกลาง

ในขณะเดียวกัน สภาวการณ์ในระยะยาวอย่างเช่น การทวนกระแสโลกาภิวัตน์และการอาศัยห่วงโซ่อุปทานที่สั้นลงโดยใช้ห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศมากขึ้น การเร่งตัวของการขายสินค้าต่างๆ ทั้งที่มีและไม่มีบรรจุภัณฑ์ ความใส่ใจเกี่ยวกับสุขอนามัย พฤติกรรมการสั่งอาหารมาทานที่บ้านเพิ่มขึ้น เป็นต้น จะส่งผลดีอย่างกว้างขวางต่ออุตสาหกรรมแผ่นฟิล์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อบริษัท

บริษัทได้มีการพัฒนาชุดผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความพยายามที่จะส่งผลต่อการเกิดแนวคิดริเริ่มใหม่ๆของโลกอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิผลในการส่งเสริมความยั่งยืนและระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ให้ความสำคัญกับการกำจัดของเสียและการใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากร

โดยบริษัทได้ดำเนินแนวคิดริเริ่มที่สำคัญ ได้แก่ การลงทุนต่อเนื่องใน อีโคบลู ซึ่งเป็นธุรกิจที่แปลง PET และ Polyolefin ที่เป็นของเสียจากอุตสาหกรรมและของเหลือใช้จากผู้บริโภคเป็นเม็ดพลาสติก เพื่อเป็นวัตถุดิบในธุรกิจบรรจุภัณฑ์หลายประเภทและในอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาและผลิตแผ่นฟิล์มที่มี PCR ไม่เกินร้อยละ 90 ได้ในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งงานวิจัยและพัฒนาของบริษัทยังเน้นพัฒนาชุดผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความมุ่งมั่นของบริษัทในการลดผลกระทบจากขยะพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

มุมมองนักวิเคราะห์

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส แนะนำ ซื้อ" ให้ราคาพื้นฐาน 27.50 บาท

ความโดดเด่นคือ กำไรสุทธิขยายตัวดีในช่วงปี 2020-2023 โดยมีวิกฤติโควิดช่วยกระตุ้นเป็นผู้ประกอบการที่มีต้นทุนต่ำเพราะมีทั้งผลิตภัณฑ์ต้นน้ำและปลายน้ำกระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูงความสามารถในการทำกำไรและอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE)แข็งแกร่ง สำหรับความเสี่ยงหลักคือ ความผันผวนของราคาวัตถุดิบ (PTA, MEG, PET) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค และค่าเงินบาทแกว่งตัว

 

บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) : STGT

บริษัทยอดเยี่ยมแห่งปี 2021 กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค

บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ครองตำแหน่งบริษัทยอดเยี่ยมแห่งปี 2021 กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ในปี 2563 สามารถสร้างผลการดำเนินงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมานานกว่า 30 ปี โดยมีรายได้รวม 30,692.41 ล้านบาท เติบโต 153% และกำไรสุทธิ 14,401 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,246% จากปีก่อนหน้า หรือมีกำไรต่อหุ้น 5.94 บาท

นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์รายใหญ่ของโลก เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในรอบปีที่ผ่านมา เติบโตอย่างโดดเด่นทุกไตรมาส

ปัจจัยที่ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด มาจากความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นกว่า 20% ในปีที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3.6 แสนล้านชิ้นต่อปี และมีความต้องการกระจายตัวในหลากหลายอุตสาหกรรม จากเดิมที่ใช้ในทางการแพทย์เป็นหลัก จึงทำให้บริษัทมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก ประกอบกับกำลังการผลิตจากทั่วโลกยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้ราคาขายเฉลี่ยของถุงมือยางในตลาดโลกปรับขึ้นเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมถุงมือยางทั่วโลกในปี 2564 คาดว่าจะมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 20% จากปีที่ผ่านมา แม้ในปัจจุบันเริ่มมีการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 และเริ่มทยอยฉีดแก่ประชาชนในหลายประเทศ เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดทั่วโลก ยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้การใส่ใจด้านสุขอนามัยกลายเป็น New Normal ดังนั้นผลิตภัณฑ์ถุงมือยางจะยังเป็นที่ต้องการของวงการแพทย์และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องให้ความสำคัญด้านความสะอาด

จากปัจจัยที่กล่าวข้างต้น ทำให้ STGT วางเป้าปริมาณการขายถุงมือยางในปี 2564 ที่ 32,000 ล้านชิ้น เติบโตราว 14% จากปีก่อนหน้า โดยปัจจุบันบริษัทมีคำสั่งซื้อถุงมือยางธรรมชาติล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 13 เดือน และคำสั่งซื้อถุงมือยางไนไตรล์ล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 30 เดือน รวมถึงยังไม่เห็นสัญญาณการยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าในปัจจุบัน

นอกจากนี้บริษัทวางแผนทยอยเดินเครื่องจักรโรงงานใหม่อีก 4 แห่ง ในทุกๆ ไตรมาสของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ล้านชิ้นต่อปี จากสิ้นปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 33,000 ล้านชิ้นต่อปี 

มุมมองนักวิเคราะห์

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส แนะนำ ซื้อ"ราคาพื้นฐาน 60.50 บาท

ปัจจัยเด่นของ STGT เป็นหุ้นปันผลสูง และราคาขายเฉลี่ยเพิ่ม ดังนั้นคงคำแนะนำ "ซื้อ" ปรับราคาพื้นฐานใหม่ขึ้นเป็น 60.50 บาท จากเดิมที่ 55.00 บาท ซึ่งประเมินด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสด (DCF) ราคาปิดมีส่วนเพิ่มได้อีกถึง 35%

นอกจากนี้ ในช่วงที่ไทยเผชิญกับปัญหาการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 จึงทำให้ STGT เป็นหลักทรัพย์ที่โดดเด่นขึ้นมาอีกครั้ง สำหรับไตรมาส 1/64 คาดว่าแรงผลักดันการเติบโตมาจากราคาขายเฉลี่ย (ASP) ถุงมือยางที่สูงขึ้น 20% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/63 และประเมินเงินปันผลไตรมาสแรกปีนี้เป็น 1.80 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่สูงเป็น 4%

ในภาพรวมจึงได้มีการปรับประมาณการปี 2564-2565 เพิ่มในอัตรา 27% และ 25% ตามลำดับ ตามการปรับสมมุติฐานราคาขายเฉลี่ย (ASP) ถุงมือยางเพิ่ม จึงยังผลให้อัตราการเติบโตกำไรหลักปีนี้สูงถึง 66% และเงินปันผลตลอดปีนี้สูงเป็น 4.15 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่สูงเป็น 9.3%

อีกทั้งได้มีการปรับสมมุติฐานราคาขายเฉลี่ย (ASP) ถุงมือยางเป็น 52.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1,000 ชิ้น เพิ่มขึ้น 7% จากเดิมที่ 48.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1,000 ชิ้น

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) คงคำแนะนำ ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมาย 58.00 บาท

มีมุมมองเป็นบวกหลังจากได้เข้าไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตถุงมือยางบริษัท STGT จ.สุราษฎร์ธานี (3 เม.ย.64) จากการซ่อมแซมโรงงานสุราษฎร์ 2 (SR2) ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ ได้เร็วกว่าที่คาด 1 เดือน โดยโรงงาน SR2 สามารถเริ่มทยอยดำเนินการผลิตได้ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2564 และคาดว่าผลิตได้เต็มกำลังการผลิตราว 2,100 ล้านชิ้นต่อปีในช่วงพฤษภาคม 2564

บล.เคทีบีฯยังคงกำไรสุทธิปี 2564 ที่ 35,582 ล้านบาท (+147% YoY) จากทิศทางราคาขายถุงมือยางในช่วงครึ่งปีแรกยังคงปรับตัวขึ้นต่อ และคาดว่าไตรมาส 2 ราคาขายจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกราว 5% จากไตรมาสแรก รับอานิสงส์หลังสหรัฐฯแบนถุงมือยางบริษัท Top Glove ประเทศมาเลเซีย


บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส : FSMART

บริษัทยอดเยี่ยมแห่งปี 2021 ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)

บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART ครองตำแหน่ง บริษัทยอดเยี่ยมแห่งปี 2021 ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ด้วยผลประกอบการที่โดดเด่น ในปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 3,123.29ล้านบาท กำไรสุทธิ 464.06 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 14.84% มีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) 37.43%

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผู้นำเครือข่ายช่องทางบริการอัตโนมัติและการเงินครบวงจร ภายใต้ชื่อ "บุญเติม" เปิดเผยว่า ปี 2563 ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ผลการดำเนินงานของบริษัทยังสามารถมีกำไรต่อเนื่อง เพราะตู้บุญเติมมีบริการที่ครบวงจรทั้งเติม-จ่าย-ฝาก-โอน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ โดยปี 2563 มีปริมาณธุรกรรมในธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติ จำนวน 1.5 ล้านรายการต่อวัน

ขณะที่กลุ่มธุรกิจให้บริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร (Banking Agent & Lending Business) ที่เป็นบริการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารยังคงมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากจำนวนรายการโอนเงินล่าสุดเพิ่มขึ้นถึง 65% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือประมาณ 1.9 ล้านรายการต่อเดือน 19 ล้านรายการต่อปี และยังคงเติบโตต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นยังได้อนุมัติให้บริษัทจ่ายเงินปันผลประจำปี 2563 ครั้งที่ 2 เป็นเงินปันผลจ่ายครั้งที่สองในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท รวมทั้งปีจ่ายปันผลในอัตราหุ้นละ 0.60 บาท คิดเป็นจำนวนเงิน 451.88 ล้านบาท

นายณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า ทิศทางของ FSMART ปี 2564 บริษัทยังเดินหน้าธุรกิจ 3 กลุ่มหลักคือ 1. ธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติ 2. ธุรกิจให้บริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร และ 3. ธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและการกระจายสินค้า

โดยมีเป้าหมายเพิ่มยอดการใช้บริการผ่าน "ตู้บุญเติม" ให้มีมูลค่ารวมเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 20% จากสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมถึงบริษัทมีการเปิดช่องทางและบริการใหม่ ภายใต้งบลงทุน 500 ล้านบาท อีกทั้งเพิ่มตู้รูปแบบใหม่อีก 5,000 ตู้ในปีนี้ เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดและเข้าไปทดแทนตู้ของคู่แข่งที่มีบริการน้อยกว่า และแนวโน้มจำนวนตู้ที่ลดลงในภาพรวมของอุตสาหกรรม ทั้งยังดันแคมเปญ "บุญเติม รีวอร์ด" สร้างการรับรู้ รักษาลูกค้า เพิ่มจำนวนการใช้งานขณะเดียวกันบริหารจัดการตู้บุญเติม เน้นทำเลคุณภาพ เพื่อเพิ่มยอดเติมเงินและชำระเงิน

นักวิเคราะห์ คาดปี 64 บจ.ตลาด maiกำไรโต 50%

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินแนวโน้มผลประกอบการ ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ว่า จากผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 ที่ประกาศออกมาพบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่กำไรสุทธิเติบโตดี คือ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขนส่งและโลจิสติกส์ การเงิน และสินค้าอุปโภคบริโภคโดยช่วงต้นปี 2564 นี้หลายกลุ่มอุตสาหกรรมโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคถูกกดดันจากการระบาดของ โควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้คาดว่าภาพรวมกำไรสุทธิในไตรมาสแรกจะชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปีก่อน เนื่องจากฐานที่สูง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อน (YoY) คาดว่าจะเติบโตจากฐานที่ต่ำผิดปกติในไตรมาส 1/63 เนื่องจากหลายบริษัทในกลุ่มผู้ส่งออกเริ่มได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ระบาดในจีน

นอกจากนี้บล.หยวนต้าฯ คาดว่าภาพรวมทั้งปี 2564 บริษัทจดทะเบียนในตลาด maiจะมีกำไรสุทธิรวมกันประมาณ 5,000 ล้านบาท หรือเติบโตราว 50% จากปีก่อน คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 6.90 บาท ซึ่งที่ระดับดัชนีปัจจุบันคิดเป็นอัตราราคาปิดต่อกำไร (พี/อี เรโช) ปี 2564 สูงราว 62 เท่า ส่วน PBV ปี 2564 (เปรียบเทียบราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี) จะอยู่ที่ 1.78 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 2.04 เท่า ยังพอมี Upside ในเชิง Valuation อยู่อีกราว 15%

ทั้งนี้การวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบกับ SET INDEX โดยอิง Index Ratio ระหว่าง mai : SET ที่ 0.28 เท่า ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 0.33 เท่า และ Spread PBV ระหว่าง mai:SETที่ 0.37 เท่า ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 0.86 เท่า สะท้อนว่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ maiที่กำลัง Outperform ตลาดในช่วงนี้ ยังมีความน่าสนใจสำหรับการลงทุนในระยะสั้นเมื่อเทียบกับหุ้นขนาดกลาง-ใหญ่

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนแนะนำ "ซื้อเก็งกำไร" คุณสมบัติของหุ้นที่แนะนำ 1.ผลประกอบการไตรมาส 1/64 มีแนวโน้มโตทั้ง QoQหรือ YoY2.กระแสเงินสดจากการดำเนินงานแข็งแกร่ง 3.อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และ 4.Valuation ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าหรือใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีต


คลิกอ่าน : 300 บริษัทยอดเยี่ยมแห่งปี 2021 (ตอนที่ 1)